วัดชากลูกหญ้า

RYM3015

วัดชากลูกหญ้า

ประวัติของชุมชนชากลูกหญ้า คือมีคนเข้ามาอยู่ก็มีการโค่นไม้ทำลาย สภาพต่อมาก็เป็นป่าชาก เมื่อเป็นป่าชากพันธุ์หญ้าต่างๆก็เริ่มขึ้นหนาแน่น พันธุ์หญ้าที่ขึ้นมากที่สุดก็คือ หญ้าน้ำลึก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หญ้าเจ้าชู้ มีดอกเป็นพวงเหมือนหางกระรอกสูงประมาณ 50 – 80 เซนติเมตร เมล็ดลูกหญ้ายาวแหลม เมื่อมีคนหรือสัตว์ผ่านไปมาในทุ่งหญ้า เมล็ดจากลูกหญ้าจะติดไปกับกางเกง หรือขนของสัตว์หญ้าจำพวกนี้จึงขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าหญ้าชนิดอื่น ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงตั้งชื่อว่า บ้านชากลูกหญ้า มาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามชื่อของชุมชนชากลูกหญ้ายังปรากฏอยู่ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ที่แต่งขึ้นในปีพ.ศ.2350 จากคำประพันธ์พบว่ามีการใช้ชื่อว่า “ชากลูกหว้า” ซึ่งในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวอาจจะมีต้นหว้าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ดังจะเห็นได้จากการกล่าวถึงห้วยอีร้าที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมีการกล่าวถึงต้นหว้าที่ออกผลเต็มต้น และร่วงหล่นจนมีฝูงลิงเข้ามาเก็บกิน ดังนั้นอาจสันนิษฐานได้ว่าในอดีตมีการเรียกชื่อว่าชากลูกหว้า เนื่องจากมีต้นหว้าขึ้น จนกระทั่งมีการเพี้ยนเสียงเป็นชากลูกหญ้าในปัจจุบัน สิ่งสำคัญภายในวัดชากลูกหญ้า คือ เอกสารสมุดไทยประเภทตำรายา และตำรายันต์ จำนวน 4 เล่ม