บ้านสัตย์อุดม (พิพิธภัณฑ์)

RYM5010


บ้านสัตย์อุดม (พิพิธภัณฑ์)

ในปีพ.ศ.2544 มีแนวคิดที่ต้องการพัฒนาถนนยมจินดาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนเก่ายมจินดา เนื่องจากถนนสายนี้มีบ้านและตึกเก่าที่มีเรื่องเล่าน่าสนใจ จนนำไปสู่การรวบรวมภาพถ่ายเก่าในชุมชนมาเล่าเรื่อง เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในยมจินดา จากนั้นจึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองระยองขึ้นเป็นพื้นที่รวบรวมภาพถ่ายเก่าและของสะสมหายากจากคนในพื้นที่ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ระยองเดิมเป็นบ้านของตระกูลสัตย์อุดมที่ทายาทของตระกูลได้บริจาคบ้านหลังนี้ให้แก่กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าระยองเพื่อใช้ทำประโยชน์ บ้านของตระกูลสัตย์อุดม เจ้าของดั้งเดิมคือ ขุนศรีย์อุทัยเขต (โป้ง สัตย์อุดม) ต้นตระกูลสัตย์อุดมที่สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นในปีพ.ศ. 2462 เป็นบ้านไม้สองชั้นขนาดใหญ่อยู่บริเวณกลางชุมชน ลักษณะผนังมีการตีไม้ฝาสองแบบ คือตีซ้อนกันแบบบานเกล็ดและไม้ฝาแบบลูกฟัก หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว ชั้นบนมีหน้าต่างไม้แบบบานเกล็ด และมีการทำช่องลมสองแบบ คือช่องลมแบบตีไม้เรียงกันในแนวตั้งเว้นช่องไว้ระบายอากาศ และช่องลมแบบไม้ฉลุลายเป็นคำว่า “เจริญ” ชั้นล่างมีการทำชานนั่งพักหันหน้าออกสู่แม่น้ำระยองซึ่งเป็นบริเวณหน้าบ้านแต่เดิมก่อนการตัดถนน ความต้องการพัฒนาถนนยมจินดาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนเก่ายมจินดาตามนโยบายของกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่าระยองที่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2544 ทำให้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองระยองขึ้น เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระยอง นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังกลายเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านรูปถ่ายและคำบอกเล่าของคนในชุมชนยมจินดา