วัดบ้านค่าย

RYM3019

วัดบ้านค่าย

พื้นที่เดิมของวัดบ้านค่ายสันนิษฐานว่าเคยเป็นโบราณสถานของขอมเก่า เมื่อมีชุมชนมาตั้งรกรากจึงถูกพัฒนาเป็นวัด ชาวบ้านในสมัยนั้นนิยมเรียกกันว่า โบสถ์ขอม หรือวัดขอม หรือวัดบน ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือ ต่อมาน้ำในคลองเกิดเปลี่ยนทางเดินน้ำ ทำให้น้ำไหลแทงเซาะตลิ่งจนพัง จึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่บริเวณด้านทิศใต้ เรียกว่าวัดล่าง คาดว่าได้มีการย้ายวัดหลังจากที่พระเจ้าตากสินฯ ได้เดินทัพไปนานพอสมควร ในปี พ.ศ. 2446 ชุมชนที่อยู่ในบริเวณวัดนี้ถูกขนานนามว่า ชุมชนบ้านค่าย วัดล่างจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดบ้านค่ายชัยชมพูพล ตามสภาพของค่ายเก่าในอดีต มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปีมาแล้ว พื้นที่โดยรอบวัดมีคูน้ำล้อมรอบ 4 ด้านที่สันนิษฐานว่าขุดขึ้นโดยพวกขอม ด้านทิศเหนือติดต่อคลองใหญ่ (แม่น้ำระยอง) สูงจากระดับน้ำทะเล 10 เมตร

สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่

- พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบไทยประเพณีสมัยใหม่ ขนาด 5 ห้อง มีการก่อมุขโถงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของอุโบสถ

- พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยภายในพระอุโบสถ ด้านหน้าพระปูนปั้น ทางวัดเรียกว่า หลวงพ่อ ร.ศ. 130 เป็นพระพุทธรูปสำริดประทับนั่งปางมารวิชัยในศิลปะรัตนโกสินทร์ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวคว่ำ-บัวหงาย

- เจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระอุโบสถ

- มณฑปผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดย ตัวอาคารมีการทำเสาพาไลรับน้ำหนักของเครื่องหลังคา ระหว่างเสาทำเป็นพนักเตี้ยๆ เจาะช่องประดับกระเบื้องปรุลายจีน ภายในอาคารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

- ศิลปวัตถุ คือ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย และพระสาวกหินทราย ปัจจุบันกองอยู่บริเวณโคนต้นไม้ข้างพระอุโบสถเป็นซากพระพุทธรูปหินทรายสีแดงที่เหลือเฉพาะส่วนพระเพลาและบางส่วนของลำตัวพระ