วัดหนองกะพ้อ

RYK3010

วัดหนองกะพ้อ

วัดหนองกะพ้อชื่อที่ชาวบ้านเรียกหรือชื่อเดิมว่า วัดเนินโพธิ์ ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า ครั้งนั้นหมู่บ้านเนินโพธิ์มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก วัดนี้สร้างขึ้นมาโดยความร่วมแรงร่วมใจของพุทธบริษัทในขณะนั้น ซึ่งมีขุนเสนาประมวลพลมหาดไทย หมื่นรองบรรเทาทุกข์ราษฎร หมื่นชำนาญนิกร หมื่นสกลศักดา พร้อมด้วยราษฎรในหมู่บ้านได้ทำการก่อสร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นที่รวมจิตใจ และเป็นที่บำเพ็ญกุศลของประชาชนในหมู่บ้าน และได้ทำการก่อสร้างอุโบสถเพิ่มเติมจนสำเร็จขึ้นอีกหลังหนึ่ง กว้าง 12 เมตร ยาว 16 เมตร แล้วจึงได้ดำเนินการทูลเกล้าถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกขึ้นเป็นวิสุงคามสีมา ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาจึงมีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้เป็นวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 วัดเนินโพธิ์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเนินโพธิ์เป็นเวลานานเท่าใด แต่จากคำบอกเล่ากล่าวว่า ภายหลังประชาชนในหมู่บ้านได้ย้ายทำเลประกอบอาชีพขึ้นไปอยู่ทางเหนือ คือบริเวณหนองกะพ้อ ซึ่งในขณะนั้นคงมีลักษณะเป็นหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในบริเวณนั้น และคงเห็นว่าวัดที่สร้างไว้เดิมอยู่ห่างไกลจากทำเลใหม่ เมื่อประชาชนย้ายไปหมดแล้วจึงไม่มีใครบูรณะ การประกอบการกุศลก็ไม่สะดวก เพราะในขณะนั้นยังมีสภาพเป็นป่าและเป็นที่ลุ่มอยู่มาก จึงได้พร้อมใจกันย้ายวัดเดิมไปทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ที่บริเวณหนองน้ำและขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “วัดหนองกะพ้อ” คงเป็นเพราะบริเวณนั้นมีต้นไม้ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าต้นตองกะพ้อขึ้นอยู่ชุกชมมาก จึงตั้งชื่อวัดตามตามสภาพดังกล่าว โดยไม่มีหลักฐานว่าย้ายไปเมื่อใด

อุโบสถวัดหนองกะพ้อ

อุโบสถวัดหนองกะพ้อ เป็นอาคารไทยประเพณี ขนาด 4 ห้อง หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น มีมุขโถงยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตรงส่วนบริเวณมุขโถงมีพนักที่ทำเป็นลูกกรงคอนกรีต หน้าบันทำเป็นลวดลายปูนปั้นทำลายพรรณพฤกษาตรงกลางมีเทพนมอุโบสถมีประตูทางเข้าทำเป็นซุ้มทรงบันแถลงด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู อุโบสถมีใบเสมาประดิษฐานอยู่ภายในซุ้ม ทำเป็นลักษณะคล้ายธรรมจักร ล้อมรอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิราบ รัศมีเปลว พระขนงโค้ง พระเนตรเหลืองต่ำ พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย ครองจีวรห่มเฉียง


จิตรกรรมฝาผนัง

อุโบสถวัดหนองกะพ้อมีจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายในอุโบสถเป็นจิตรกรรมสมัยใหม่ เขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดกและพุทธประวัติที่บริเวณผนังเหนือช่องหน้าต่าง โดยมีการจัดวางตำแหน่งของเรื่องเรียงลำดับจากผนังสกัดด้านหลังพระประธานวนไปทางด้านซ้ายมือพระประธานไปจนจรดผนังทางด้านขวาของมือพระ