บ้านมาบเหลาชะโอน

RYK7001

บ้านมาบเหลาชะโอน

บ้านมาบเหลาชะโอน มาบเหลาชะโอน หมายความว่า “ที่ราบลุ่มมีน้ำขังซึ่งมีต้นเหลาโอนขึ้นอยู่จำนวนมาก” โดยคำว่า มาบ นั้นแปลว่า ที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นคำ ที่ใช้บอกลักษณะทางกายภาพของพื้นที่นั้น ๆ ได้ ส่วนต้นเหลาโอนที่คนพื้นที่เรียกกันนั้น เป็นไม้ยืนต้นจำพวกเดียวกับ ต้นปาล์ม แต่มีหนามแหลม ขึ้นตลอดทั้งต้น ปัจจุบันจึงไม่มีให้พบเห็นนัก บ้านมาบเหลาชะโอน เป็นหมู่บ้านที่มีการสืบทอดการทำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน อย่างการสานเสื่อ มาเป็นระยะเวลานาน เนื่องมาจาก “เสื่อ” ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของหมู่บ้านนี้ปรากฏอยู่นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ โดยระบุว่าในขณะนั้นเสื่อจาก จังหวัดระยอง ถือเป็นเสื่อที่มีคุณภาพดี จนต้องผลิตเสื่อเพื่อเป็นส่วยส่งไปยังพระนคร และการทำเสื่อในขณะนั้นยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเสื่อจากหมู่บ้านแห่งนี้ยังถูกส่งไปเป็นสินค้าที่บริเวณปากน้ำประแส โดยที่บ้านมาบเหลาชะโอนแห่งนี้มีการพัฒนาเสื่อเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย

การจักรสานเสื่อกระจูดเป็นภูมิปัญญาที่มีมาแต่ช้านานตั้งแต่ครั้งที่สุนทรภู่เดินทางมาเยี่ยมบิดาที่บ้านกร่ำในปี พ.ศ. 2350 ท่านได้กล่าวว่าพบชาวบ้านสานเสื่อกกในนิราศเมืองแกลง ซึ่งในภาพเป็นการสานกระเป๋ากระจูดที่กลุ่มจักสานกระจูด บ้านมาบเหลาชะโอน อำเภอแกลง ซึ่งมีวิธีการสานแบบเดียวกับเสื่อกก โดยในการสานแต่ละครั้งจะสานเมื่อมีการสั่งซื้อและส่งให้กับหลายบริษัท เช่น การบินไทย การสานเสื่อหรือกระเป๋าจะทำเป็นช่วง ๆ ตามระยะเวลาในการตากกก หรือกระจูด ถือเป็นสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงอย่างหนึ่งของจังหวัดระยอง