บ้านคลองปูน

RYK5020

บ้านคลองปูน

click to see map

บ้านคลองปูนเป็นตำบลที่อยู่ติดกับตำบลปากน้ำกระแส จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในชุมชนปากน้ำประแสทำให้ทราบว่า บ้านคลองปูนถือเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับบริเวณชุมชนปากน้ำประแส ชาวบ้านในบ้านคลองปูน ส่วนใหญ่แล้วทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม พื้นที่ราบต่ำส่วนใหญ่เป็นที่ทำนา ส่วนพื้นที่ราบสูงเป็นที่ทำสวนยาง หรือสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ในอดีตมีสวนยางเป็นจำนวนมาก เพราะยางราคาสูง ส่วนทุเรียนจะปลูกไว้กิน ยังไม่นิยมปลูกเพื่อขาย เนื่องจากไม่มีความรู้ในการปลูกหรือดูแลรักษาทุเรียนเท่าที่ควร แต่ในช่วงหลังเมื่อทุเรียนราคาสูงขึ้น ก็ปลูกร่วมกันกับพืชชนิดอื่น ๆ หรือบางคนก็ถมที่นาแล้วปลูกทุเรียนกับยาง บ้านคลองปูนเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของชาวบ้าน บริเวณปากน้ำประแส เนื่องจากน้ำบริเวณปากน้ำเป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็ม ไม่เหมาะต่อการอุปโภค - บริโภค ซึ่งในรายงานสาธารณ สุขมณฑลจันทบุรี ต่อสมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ได้ระบุความตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่ บ้านประแสเอาไว้ว่า “… อัตคัดมากที่สุด เพราะพลเมืองก็มากและพื้นที่ขุดน้ำก็ไม่ได้น้ำจืดรับประทาน เพราะพื้นที่ทะเลขึ้นถึงน้ำ รับประทาน ต้องไปตักตำบลคลองปูน ห่างไกลตั้ง 2 ชั่วโมง ผู้มีอาชีพในทางบรรทุกน้ำขายหาบละ 10 สตางค์ น้ำที่บรรทุกมานี้ ได้มาจากบ่อตำบลคลองปูน ข้าพเจ้าได้พิจารณาน้ำที่ขายใส จืดดี ถามผู้ตักน้ำว่าบ่อเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่าเป็นบ่อดินปนหิน ลักษณะของบ่อก็เป็นบ่อธรรมดาตามชาวบ้านใช้ ไม่ถูกต้องลักษณะสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังมีบ้านนายสำเภา วานิชรัตน์ พ่อค้า ได้จัดทำถังซีเมนต์เก็บน้ำฝนไว้ใช้ขนาดถังกว้าง 3 เมตร 50 เซนติเมตร ยาว 6 เมตร เป็นถังหล่อคอนกรีตมีก๊อกเปิดปิดน้ำใช้ นับว่า เรียบร้อยดี นายสำเภา วานิชรัตน์ชี้แจงว่า ถึงน่าฤดูแล้ง น้ำนี้ขายได้หาบละ 20-15 สตางค์ กับมีที่เก็บน้ำที่วัดตะเคียนงามอีกแห่งหนึ่ง หล่อคอนกรีตหนา 14 เซนติเมตร กว้าง 3 เมตร 38 เซนติเมตร สูง 3 เมตร 20 เซนติเมตร นับว่าทำถูกแบบดี และพระครูพิพัฒธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดแหลมสน ได้ปรารภต่อใต้เท้ากรุณา ขอให้ช่วยจัดการเรี่ยไรเงินจัดทำถังน้ำสำหรับใช้ในวัด…” จากหลักฐานดังกล่าวสอดคล้องกับคำบอกเล่าของคุณชโลม วงศ์ทิม ที่กล่าวเอาไว้ว่า พื้นที่บริเวณ ใกล้ปากน้ำมีแต่น้ำกร่อยที่ค่อนไปทางเค็ม ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในครัวเรือนได้ คนที่นี่จึงต้องไปหาบน้ำจากคลองปูน หรือไม่ก็วัดตะเคียน เพื่อนำมาอุปโภค - บริโภคในครัวเรือน ไม่ได้สะดวกสบายเช่นในปัจจุบัน