ชุมชนสามย่าน

RYK5001

ชุมชนสามย่าน

ชุมชนบ้านตลาดสามย่าน นับว่าเป็นเขตที่ลุ่มแม่น้ำประแสตอนบน ซึ่งแม่น้ำประแสในอดีตมีความกว้างกว่าในปัจจุบันมาก จากคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่มักจะมีเรือสินค้าเข้ามาจอดเทียบท่าบริเวณตลาดสามย่าน โดยเรือดังกล่าวจะเดินทางมาจากกรุงเทพฯ และเดินทางไปยังประแสก่อนที่จะเข้ามายังสามย่านด้วย “…เตี่ยก็เดินเรือใบ ตรงนี้เลยไปจะมีท่าเรือ เดินเรือไปกรุงเทพ แล้วก็มาเข้าประแส แล้วก็มาเข้าที่นี่(สามย่าน)ขนสินค้ามาขายนี่แหละ เตี่ยเค้าก็ซื้อตู้มาจากกรุงเทพฯ 600 บาท ใส่เรือมาเตี่ยเป็นไต้ก๋ง... สมัยก่อนมีเรือเข้ามาที่สามย่านคึกคัก มีคนเดินทางไปมา คนจากประแสเดินทางมาที่นี่ นั่งเรือมา...” จากคำบอกเล่า จึงทำให้เห็นภาพของตลาดสามย่านที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอแกลง และสัมพันธ์กันกับพื้นที่อื่น ๆ อย่างปากน้ำประแสด้วย เรือใบที่บรรทุกสินค้าสามารถล่องเข้ามาได้ถึงตลาดสามย่าน พื้นที่สามย่านส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาและสวน บริเวณระหว่างถนนสุนทรโวหารสาย 1 2 และ 3 ในปัจจุบันนั้น อดีตเป็นพื้นที่ทำสวนทั้งหมด เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่มและอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างแม่น้ำประแส พื้นที่ตั้งแต่สามย่านไล่ไปจนถึงบ้านทะเลน้อยนับเป็นพื้นที่นาทั้งสิ้น บริเวณถนนสุนทรโวหาร ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักในตลาดสามย่าน ในอดีตเป็นเพียงทางเกวียน จนกระทั่งมีการตัดถนนสุขุมวิท จึงได้มีการตัดถนนสุนทรโวหารขึ้น เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากถนนสุขุมวิทเข้ามายังตลาดสามย่าน โดยบรรยากาศการทำการค้าขายจะอยู่บริเวณท่าเรือ ซึ่งบริเวณนั้นมีทั้งวิกหนังไพบูลย์บันเทิง และย่านการค้า ทั้งร้านขายยา ร้านขายของชำ และร้านค้าอื่น ๆ นอกจากร้านค้าตามที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีโรงเลื่อยบริเวณท่าเรือ ไม้ที่นำมาเข้าโรงเลื่อยนั้นมาจากอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี คนที่อาศัยอยู่ในสามย่านส่วนใหญ่เป็นคนจีน บ้านเรือนในสามย่านส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 100 ปี บางบ้านก็คงสภาพเดิมไว้ บางบ้านก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้ว สิ่งของที่นำมาขายในตลาดสามย่านส่วนใหญ่จะไปรับมาจากประแส เพราะประแสเป็นแหล่งรับสินค้ามาจากกรุงเทพฯ ส่วนของป่าที่มาขายจะมาจากเขาชะเมา บ้านกร่ำ วังหิน สิ่งของขึ้นชื่อของสามย่านที่ส่งไปขายที่อื่นคือ น้ำมันขี้โล้ซึ่งเอามาจากยางนา โดยจะไปขุดที่ต้นให้เป็นแผล แล้วนำไฟไปลน น้ำยางจะไหลลงมาหลังจากนั้นนำไปเคี่ยว น้ำมันขี้โล้เอาไปผสมกับชันแล้วทำเป็นขี้ไต้หรือนำมายาเรือได้ มีลักษณะคล้ายกับยางมะตอย นอกจากนี้สามย่านยังมีชื่อเสียงในเรื่องการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ ในช่วงประมาณ 50 – 60 ปีที่ผ่านมาสามย่านถือว่าเป็นแหล่งผลิตและส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่สำคัญ โดยข้าวที่นำมาใช้ทำเส้นส่วนใหญ่มาจากนาบริเวณวัดพลงช้างเผือก เจ้าของโรงงานเกือบทั้งหมดเป็นคนจีน

บ้านเรือนในสามย่านส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 100 ปี บางบ้านก็คงสภาพเดิมไว้ บางบ้านก็เปลี่ยนไป ตามกาลเวลาแล้ว


ร้านขายของชำ และร้านค้าอื่น ๆ บริเวณชุมชนสามย่าน