วัดโพธิ์ทองพุทธาราม

RYK3007

วัดโพธิ์ทองพุทธาราม

วัดโพธิ์ทองพุทธาราม มีชื่อที่ชาวเรียกหรือชื่อเดิมว่า วัดโพธิ์ทอง เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดมหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง วัดโพธิ์ทองไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ก็มีหลักฐานตามเอกสารว่าได้รับอนุญาตสร้างวัดประมาณ พ.ศ. 2354 พระราชทานวิสุงคามสีมา และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2472 และเนื่องจากถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้สิ่งก่อสร้างและเอกสารต่าง ๆ ถูกเผามอดไหม้ไปเกือบหมด

พระโรจนฤทธิ์

พระพุทธรูปประธานและพระสาวกประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถเก่า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ศิลปะพื้นบ้าน พระพัตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็ก พระโอษฐ์เล็ก รัศมีเป็นเปลว ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเตี้ย ๆ โดยฐานชุกชีนั้นเป็นฐานบัวนั้นที่มีปูนปั้นประดับเป็นรูปใบไม้


วิหารพระพุทธโรจนฤทธิ์

วิหารพระพุทธโรจนฤทธิ์ เป็นอาคารทรงไทยประเพณี เป็นอาคารก่อคอนกรีต ขนาด 5 ห้อง เครื่องหลังคาเป็นคอนกรีตเช่นกันแต่ยังคงทำเป็นเครื่องลำยองมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนหน้าบันด้านบนทำเป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ส่วนด้านล่างทำเป็นเทพพนมนั่งอยู่ในช่อง ทั้งหมด 3 ช่อง ภาพประดิษฐาน ซึ่งวิหารพระโรจนฤทธิ์นี้หลังเก่านั้น เป็นอาคารที่สร้างก่อนอโบสถ์ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นปีพ.ศ. 2379 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 สอดคล้องกับพุทธศิลป์คือพระโรจนฤทธิ์ที่เป็นพระประธานในวิหาร


อุโบสถวัดโพธิ์มองพุทธาราม

อุโบสถวัดโพธิ์มองพุทธาราม อุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 5 ห้อง เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน เครื่องหลังคาเป็นไม้ ซ้อน 2 ชั้น เครื่องหลังคาเป็นไม้ ประกอบด้วย ช่อฟ้า รวยระกา หางหงส์เป็นหัวนาค หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น ส่วนบนเป็นรูปครุฑ ด้านล่างเป็นรูปมังกร 2 ตัว ตรงกลางเป็นลูกแก้ว ประกอบด้วยลายพรรณพฤกษา ซุ้มหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้น ซุ้มประตูด้านบนทำเป็นทรงเจดีย์คล้ายซุ้มทรงปราสาท และมีกรอบทำคล้ายเสาลายตาข่าย กรอบเช็ดหน้าของประตูทั้งสองด้าน มีไม้สลักเป็นตัวอักษรว่า “พุทธสกราชล่วงได้ ๒๔๖๔ พรรษา” ส่วนซุ้มหน้าต่างมีลวดลายปูนปั้น ด้านบนเป็นกรอบคล้ายองค์เจดีย์มียอด กรอบด้านข้างทำคล้ายเสาฝรั่ง เซาะร่องตามแนวตั้ง กรอบหน้าต่างเป็นกรอบเช็ดหน้าไม้มีอกเลา มีลายไม้ฉลุประดับที่มุมตอนบนสองข้าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 1 องค์ มีใบเสมารอบทั้ง 8 ทิศ ส่วนด้านหน้าของอุโบสถหลังนั้น มีอาคารที่เป็นตรีมุขอยู่ด้านหน้า โดยมุขที่อยู่ด้านหน้านั้นเป็นอาคารเครื่องไม้ หลังคาซ้อน 2 ชั้น โดยเครื่องหลังคามีช่อฟ้า รวยระกา และหางหงส์ โดยอุโบสถที่มีมุขอยู่ทางด้านหน้า จะเป็นลักษะพื้นถิ่นของอุโบสถลุ่มน้ำประแสร์