วัดดอนมะกอก

RYK3016

วัดดอนมะกอก

วัดดอนมะกอก ชื่อวัดโดยทางราชการ วัดดอนมะกอก ชื่อที่ชาวบ้านเรียกหรือชื่อเดิมว่า วัดดอนมะกอกล่าง เป็นวัดสังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ตำบลปากน้ำกระแส-คลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ภาค 13 จากหลักฐานการตั้งวัดปรากฏว่า ได้รับอนุญาตสร้างวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2342 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 เนื้อที่กว้าง 23 ยาว 30 เมตร ประวัติของวัดดอนมะกอกตามคำบอกเล่ากล่าวว่า วัดดอนมะกอกเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง สืบไม่ได้ว่าผู้ใดได้ถวายที่ดินให้สร้างวัด แต่ทราบว่าหลวงสุนทรโกษา (ม่วง) เป็นผู้สร้าง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อสมัยพระสุคุณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี มาตรวจเยี่ยมการคณะสงฆ์ ในเขตแขวงเมืองแกลง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2441 สมัยนั้นเจ้าอธิการชื่อ ด้วง อายุ 34 ปี พรรษา 12 มีภิกษุ 5 รูป ศิษย์ 3 คน เรียนหนังสือแบบ “มูลบท” วัดชื่อว่า “วัดสุนทราราม” บ้านดอนมะกอก ได้รายงานต่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2442 เข้าใจว่าคงจะเอาชื่อผู้สร้างวัดมาตั้งเป็นชื่อวัด และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดดอนมะกอก เพื่อให้พ้องกับชื่อหมู่บ้าน ส่วนจะเปลี่ยนชื่อเมื่อใดนั้นไม่ปราฏหลักฐานแน่ชัด

อุโบสถวัดดอนมะกอก

อุโบสถวัดดอนมะกอก เป็นอาคารทรงไทยประเพณีสมัยใหม่ ขนาด 4 ห้อง หลังคาซ้อนกัน 2 ชั้นประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รวงผึ้งทำเป็นกรอบซุ้มหน้านาง มีมุขโถงทั้งด้านหน้าและด้านหลังพนักทำเป็นลายเลียนแบบกระเบื้องปรุลายจีนแต่วัสดุเป็นปูน หน้าบันตรงกลางเป็นลายพรรณพฤกษาตรงกลางมีเทพนม มีประตูทางเข้าทำเป็นซุ้มทรงปราสาทด้านหน้า 2 ประตู และด้านหลัง 2 ประตู ส่วนหน้าต่างก็เป็นซุ้มทรงปราสาทเช่นกัน อุโบสถมีใบเสมาประดิษฐานอยู่ภายในซุ้ม ลวดลายตรงกลางเป็นธรรมจักร ล้อมรอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศ รูปแบบสำคัญของอุโบสถแห่งนี้คือ การใช้คอนกรีตเป็นซึ่งเป็นวัสดุใหม่ที่นิยมนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมไทยในช่วง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา


พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ (ใหม่) วัดดอนมะกอก

พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ (ใหม่) วัดดอนมะกอก มีจารึกแผ่นหินอ่อนที่ฐานว่า “เส-วกตรี ผ่อง ศรีวรรณเจริญ แม่กิมฮวด ใบเงิน,สร้างพระ ๑ ม.ค.๐๙ ๑๒,๕๐๐.บ.” เป็นพระพุทธรูปหล่อเลียนแบบพระพุทธชินราช โดยมีพุทธลักษณะ คือ พระพักตร์แป้น เม็ดพระศกใหญ่ มีรัศมีรูปเปลวไฟ ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ที่สำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธชินราช คือ ซุ้มเรือนแก้วเป็นเค้าโครงเส้นนอกองค์พระพุทธรูป ปลายกรอบซุ้มเป็นตัวเหรา-มกร พระพุทธรูปองค์นี้สะท้อนความนิยมการจำลองพระพุทธชินราชต่อเนื่องจากช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ลงมาจนถึงสมัยหลัง พ.ศ. 2500 ตามอุโบสถสร้างใหม่ของวัดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองทั่วประเทศ


เจดีย์ วัดดอนมะกอก

เจดีย์วัดดอนมะกอก ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านหน้าอุโบสถ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยฐานเขียง 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นเป็นบัวปากระฆังและองค์ระฆังขนาดใหญ่บัลลังก์ในผัสี่เหลี่ยม ปลียอดและส่วนยอด


สมุดพระอภิธรรม วัดดอนมะกอ

สมุดพระอภิธรรม วัดดอนมะกอก จากการสำรวจแหล่งศิลปกรรมที่วัดดอนมะกอก พบสมุดพระอภิธรรมบทที่ปรากฏการเขียนภาพจิตรกรรมโดยเรื่องราวที่ปรากฏในภาพ เป็นภาพการปลงอสุภกรรมฐานซึ่งเป็นหนึ่งวัตรปฏิบัติในกรรมฐาน 40 หมวด มีการน้ำตาลเป็นสีพื้นดินไล่สีขึ้นไปเป็นสีน้ำเงินของท้องฟ้า สีภาพที่ออกมามีความหม่น ลักษณะของท้องฟ้ามีการไล่สีเพื่อแสดงบรรยากาศเวลา องค์ประกอบของภาพส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านล่าง มีการปล่อยพื้นที่ว่าง การเขียนภาพต้นไม้มีทั้งลักษณะของการตวัดฝีแปรงเป็นใบไม้ ขับเน้นลำต้นด้วยสีแดงสด ภาพพระสงฆ์ ครองจีวรมีสีอ่อนตัดเส้นด้วยสีเข้ม ส่วนซากศพใช้สีเทาอ่อนตัดเส้นด้วยสีเข้มเช่นกัน ลักษณะของงานจิตรกรรมมีอายุอยู่ในช่วงราวสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา