ทุนทางวัฒนธรรมราชบุรี

ในปัจจุบันแนวทางการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจของเมืองนั้นให้ความสำคัญกับต้นทุนที่แต่ละพื้นที่มีอยู่แต่เดิม เนื่องด้วยการพัฒนาต่อยอดจากต้นทุนที่มีอยู่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์ โดย “ทุนทางวัฒนธรรม” (Cultural Capital) คือหนึ่งในต้นทุนดั้งเดิมที่แต่ละพื้นที่มีอยู่

คนโดยทั่วไปมักเข้าใจความหมายของทุนในลักษณะปัจจัยการผลิตสินค้า เช่น แรงงาน เงินทุน ที่ดิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรม จัดเป็นทุนประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน โดยทุนทางวัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ทุนวัฒนธรรมที่สัมผัสได้ เช่น โบราณสถาน งานศิลปกรรม เป็นต้น

2. ทุนวัฒนธรรมที่สัมผัสไม่ได้ เช่น ประเพณี พิธีกรรม ดนตรี และประวัติศาสตร์ เป็นต้น

หากคนในเมืองเข้าใจและตระหนักรู้ถึงทุนทางวัฒนธรรมที่ตนเองมีอยู่ จะสามารถช่วยกำหนดทิศทางพัฒนาเมืองของตนเองเพื่อไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ที่ธำรงรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงสามารถนำวัฒนธรรมของตนเองไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

คำว่า “เมืองราชบุรี” ในที่นี้ครอบคลุมอาณาบริเวณเขตเมืองเก่าราชบุรีตามประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี ในปี พ.ศ. 2560 และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้คนมักนึกถึงเมืองราชบุรีในฐานะเมืองผ่านไปสู่จังหวัดต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน เมืองราชบุรีเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองท่องเที่ยวมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าว หากไม่มีการวางแผนบริหารจัดการก็อาจจะเกิดปัญหาต่อเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้นการเข้าใจและตระหนักรู้ถึงอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมของเขตเมืองเก่าราชบุรีและพื้นที่โดยรอบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ จากหลักฐานด้านต่าง ๆ สามารถกล่าวได้ว่า ราชบุรีถือเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นทั้งทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ งานศิลปกรรม และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก


เมืองราชบุรีและประวัติศาสตร์อันยาวนาน

เมืองราชบุรีที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลและมีน้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายสำคัญ สามารถใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับชุมชนภายนอกได้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาของชุมชนจนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ขึ้น จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าเมืองราชบุรีมีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์กระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ดังเช่น หลักฐานการพบกลองมโหระทึกที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง กำไลข้อมือจากกระดองเต่าทะเลพบที่อำเภอบางแพ เป็นต้น

ชิ้นส่วนกลองมโหระทึกพบที่เมืองคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

ในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) พบหลักฐานการตั้งเมืองบริเวณคูบัว ต่อมาเมื่อเส้นทางแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางและตื้นเขิน ทำให้มีการขยับย้ายเมืองมาอยู่บริเวณวัดมหาธาตุ ราชบุรี และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ถือเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงไป สาเหตุหนึ่งที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันก็คือ การเข้ามาของวัฒนธรรมเขมร โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ถือเป็นช่วงเวลาที่มีการแผ่อิทธิพลชัดเจนที่สุด สอดคล้องกับบ้านเมืองใกล้เคียงอย่างจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี

หลังจากที่เขมรเสื่อมอำนาจลงแคว้นสุโขทัยเริ่มมีอำนาจมากขึ้นและขยายตัวเป็นอาณาจักรในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 โดยในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงรวบรวมแว่นแคว้นและหัวเมืองต่าง ๆ จากเหนือจรดใต้ไว้ในพระราชอาณาเขต ซึ่งรวมถึงเมืองราชบุรี เวลาต่อมาอาณาจักรอยุธยาได้ขยายอำนาจมาถึงดินแดนแถบนี้และได้ตั้งเมืองราชบุรีให้มีฐานะเป็น “เมืองในมณฑลราชธานี” มีการบริหารการปกครองเช่นเดียวกับหัวเมืองชั้นในอย่างเพชรบุรี ภายหลังการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงได้ถูกเปลี่ยนฐานะให้เป็นเมืองจัตวา

พระปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี

สมัยรัตนโกสินทร์มีเหตุการณ์ครั้งสำคัญ คือ เกิดการย้ายศูนย์กลางการปกครอง 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เนื่องจากทรงพิจารณาเห็นว่า ที่ตั้งเมืองเดิม คือ บริเวณวัดมหาธาตุนั้นไม่เหมาะในทางยุทธศาสตร์ จึงได้ย้ายตัวเมืองไปตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันคือค่ายภาณุรังษี ที่ตั้งทหารบกจังหวัดราชบุรีและกรมการทหารช่าง) ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อได้เริ่มจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นขึ้นใหม่ โดยแบ่งการปกครองออกเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบในมณฑลที่ปกครอง โดยในส่วนมณฑลราชบุรี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นพระยาสุรินทร์ฤาไชยผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2438 ในตอนแรกพระยาสุรินทร์ฤาไชย ได้มาตั้งที่ว่าการอยู่ที่ตึกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง และในปี พ.ศ. 2440 จึงได้ย้ายศาลากลางจังหวัดซึ่งเดิมตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ มารวมอยู่กับศาลาว่าการมณฑลทางฝั่งขวา เมืองราชบุรีจึงได้ย้ายมาอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่นั้นเป็นมา


ศาลาว่าการมณฑลราชบุรี สมัยรัชกาลที่ 5

ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

เมืองราชบุรีและบทบาทการเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายและเดินทาง

ย่านการค้าริมน้ำแม่กลอง บริเวณตลาดเก่าเมืองราชบุรีในอดีตมีความคึกคักและเป็นเครือข่ายการค้าที่สำคัญในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากบรรยากาศของการค้าขายมีทั้งตึกแถว ห้างร้านที่ตั้งอยู่บนบก และในแม่น้ำแม่กลองที่มีตลาดน้ำที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างพากันบรรทุกสินค้าจากละแวกบ้านตนเองมาขายในบริเวณนี้ ผัก ผลไม้ ข้าวหรือผลผลิตจากสวน แต่เดิมนั้นจะมาจากอำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ โดยผู้ค้าจะแจวเรือหรือพ่วงเรือมาจอดริมแม่น้ำ และยังมีคนจากต่างถิ่นเข้ามาทำการค้าที่นี่ด้วยเช่นกัน อาทิ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง ซึ่งนำผลไม้บรรทุกใส่เรือมาขาย ส่วนอาหารทะเลมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม เนื้อหมูมาจากอำเภอปากท่อ อำเภอโพธาราม ของป่ามาจากอำเภอสวนผึ้ง ได้แก่ พริกกะเหรี่ยง ไก่ป่า เครื่องยาสมุนไพร หนังเสือ หนังวัว หนังหมี งาช้าง

นอกจากนั้น ตลาดเก่าเมืองราชบุรียังเป็นชุมทางสำคัญในการเดินทางไปยังที่อื่น ๆ เนื่องจากมีทั้งท่ารถและท่าเรือ ท่ารถเมล์ เดิมอยู่บริเวณด้านหน้าหอนาฬิกา และศาลแขวงเมืองราชบุรี เดินทางไปกรุงเทพฯ และเพชรบุรี ส่วนท่าเรือนั้นชื่อว่า “ท่าเรือแดง” เป็นท่าเรือเมล์เดินทางไปอำเภอโพธาราม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี, อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดสมุทรสงคราม, จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดกาญจนบุรี

ตลาดเก่าเมืองราชบุรี

ที่มาภาพ: คุณศุภสิทธิ์ ลิ้มตระกูล

เมืองราชบุรีและการผสมผสานของหลากชาติพันธุ์

จังหวัดราชบุรีประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยมีทั้งผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม และกลุ่มคนที่อพยพมาจากพื้นที่อื่น ๆ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน สำหรับผู้คนในเขตเมืองเก่าราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สำคัญคือ ชาวไทยพื้นถิ่น ซึ่งตั้งรกรากอยู่แต่เดิม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากพื้นอื่น ๆ อาทิ ชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มภาษา ได้แก่ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง และแคะ โดยกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วมีจำนวนมากที่สุด ทั้งนี้ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเขตเมืองราชบุรีหลายช่วงเวลา แต่หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนคือ ราวรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจัยหนึ่งสืบเนื่องมาจากการขุดคลองดำเนินสะดวก ทำให้เกิดเส้นทางการคมนาคมและการค้าที่สำคัญ และหลังจากนั้นยังมีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองราชบุรี และกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ ชาวไทยวน ซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยอพยพมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และตั้งถิ่นฐานอยู่หลายพื้นที่ เช่น ตำบลดอนแร่ และตำบลคูบัว เป็นต้น

แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งหลักปักฐานในเขตเมืองเก่าราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และบางส่วนยังคงสืบต่อมาถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน มีการจัดเทศกาลตรุษจีน กินเจ การไหว้บรรพบุรุษ เทกระจาด กลุ่มชาวไทยวน มีวัฒนธรรมการใช้เพลงกล่อมเด็ก การใช้เพลงจ๊อย เทศกาลกวนข้าวเหนียวแดง กลุ่มชาวไทยพื้นถิ่น สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากวัฒนธรรมและประเพณีในพุทธศาสนา เช่น สงกรานต์ และเข้าพรรษา เป็นต้น

ศาลเจ้าพ่อกวนอู สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศาลเจ้าของกลุ่มคนจีนที่เก่าแก่และสำคัญของเมืองราชบุรี

เมืองราชบุรีและความหลากหลายทางศิลปกรรม

ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทำให้เขตเมืองเก่าราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมีงานศิลปกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก โดยพบโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นไปของแต่ละยุคสมัย เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ฐานศาสนสถาน สมัยทวารวดี ที่เมืองคูบัว ส่วนในสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานสำคัญคือ วัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่แสดงให้เห็นว่า เมืองราชบุรีน่าจะมีความสำคัญอย่างมากในสมัยอยุธยาตอนต้น และวิหารแกลบ วัดเขาเหลือ ซึ่งเป็นหลักฐานงานศิลปกรรมของช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย และต่อมาใน สมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานทางศิลปกรรมที่แสดงถึงยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง เช่น หลักเมือง และแนวกำแพงเมืองเก่า ซึ่งอยู่ภายในค่ายภาณุรังษี อันแสดงให้เห็นถึงการย้ายเมืองไปฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ในช่วงที่มีการย้ายเมืองกลับมาที่ฝั่งขวาของแม่น้ำในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี) และศาลแขวงจังหวัด เป็นต้น อีกทั้งยังมีกลุ่มตึกแถวที่เป็นตัวแทนของงานสถาปัตยกรรมไทยในยุคสมัยใหม่ด้วย

นอกจากงานศิลปกรรมโบราณ เมืองราชบุรียังมีงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมายาวนานของผู้คนในราชบุรี เช่น โอ่งมังกร ที่ลูกหลายชาวไทยเชื้อสายจีนสืบทอดองค์ความรู้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากบรรพบุรุษในจีน ผ้าจก ของชาวไท-ยวนที่คูบัว และ ผ้าขาวม้า ของชาวบ้านในตำบลบ้านไร่ เป็นต้น


การค้าขายโอ่งริมแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชบุรี

ที่มาภาพ: คลังภาพถ่ายเก่า สถาบันราชบุรีศึกษา, เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564

ดังนั้น จากทั้งสี่มิติจะเห็นว่า เมืองราชบุรีถือเป็นพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งที่มีความโดดเด่นของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และศิลปกรรม หากมีการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี พร้อมกับหาแนวทางบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองราชบุรีและส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองราชบุรีสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ด้วย