ความเป็นมาของโครงการ

โครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเมืองน่าอยู่ราชบุรี

The Development of Cultural Capital for Tourism in Livable Ratchaburi

ภายใต้ชุดโครงการวิจัย การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่

เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้วิจัยในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐา นวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนโดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 - เดือนพฤษภาคม 2564 และดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับจังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางวัฒนธรรมในจังหวัดราชบุรี ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานทางวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม กำหนดขอบเขตการศึกษาบริเวณพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่องประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี พ.ศ. 2560 และพื้นที่ต่อเนื่อง

คณะนักวิจัยชุดโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่

เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยศิลปากร และตัวแทนส่วนราชการจังหวัดราชบุรี ( 18 กันยายน 2563)

โครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเมืองน่าอยู่ราชบุรี ดำเนินการโดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีวัตถุประสงค์ศึกษาค้นคว้าทุนทางวัฒนธรรมในจังหวัดราชบุรี เพื่อนำมาสร้างอัตลักษณ์และคุณค่าด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ พร้อมทั้งนำทุนทางวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานของชาวราชบุรีมาอนุรักษ์ พัฒนา ยกระดับ สร้างสรรค์ และต่อยอด นำไปสู่การพัฒนาจังหวัดราชบุรีให้รองรับการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างองค์กร ชุมชน และแหล่งมรดกวัฒนธรรม เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษามรดกศิลปวัฒนธรรมรอบด้านหลากมิติ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

ความสำคัญของเมืองราชบุรีในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นแหล่งผลิตโอ่งมังกรที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 60 ปี หากในความเป็นจริงแล้วจังหวัดราชบุรียังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตำแหน่งเมืองราชบุรีที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเครือข่ายการค้าและการเดินทางข้ามคาบสมุทรระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ การพบศิลปวัฒนธรรมโบราณในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรีที่สำคัญในแต่ละยุคสมัย อาทิ ทวารวดี อยุธยา และรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในจังหวัดราชบุรี องค์ความรู้เหล่านี้ยังไม่เคยมีการนำมาพัฒนารากฐานให้กับคนราชบุรี หรือนำมาสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี จากความสำคัญและการดำเนินงานที่ผ่านมาดังกล่าว จึงนำมาสู่แนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเมืองน่าอยู่ราชบุรี ดังนี้

1. การค้นหา รวบรวมองค์ความรู้ และสร้างอัตลักษณ์ทางด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมราชบุรี พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบเว็บไซต์คลัง ข้อมูลสารสนเทศ นวัตกรรมดิจิทัล และกำหนดพื้นที่ตัวอย่างเพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum)

2. การสร้างสรรค์ พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้และทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรและพลเมืองวัฒนธรรม นำไปสู่การพัฒนารากฐานและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ราชบุรีอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ อาทิ

- การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างแนวคิด “เมืองวัฒนธรรม” เพื่อทำความเข้าใจการอนุรักษ์ และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมเมืองราชบุรีภาใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

- การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างแผนที่ทางวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในเมืองราชบุรี ผ่านกระบวนการทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และมานุษยวิทยา

- การอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อสร้างวิธีการสื่อสารเรื่องราวของทุนทางวัฒนธรรมสู่สังคมอย่างกว้างขวางมากขึ้น

3. การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในจังหวัดราชบุรี ร่วมกับชุมชน องค์กรภาครัฐและท้องถิ่น ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดทำสื่อสารสนเทศ คู่มือท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวภายในเขตเมืองเก่าราชบุรี